วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เเหล่งที่มา

1.  http://satun.mots.go.th

2.. http://www.teawtourthai.com/satun

3.  http://www.allwheelride.com

น้ำตกวังสายทอง









น้ำตกวังสายทอง.....น้ำตกรูปทรงดอกบัว
หมู่ที่ 4  ต. น้ำผุด  อ. ละงู


น้ำตกวังสายทองตั้งอยู่ในหมู่ที่  10  ตำบลน้ำผุด  อำเภอเมืองละงู  ห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง  28  กิโลเมตร  สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใกล้น้ำตกวังสายทอง  คือโรงเรียนบ้านวังสายทอง  ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา  น้ำตกตั้งอยู่ริมถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง  ถนนลาดยางตลอด  สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดปี


ต้นน้ำของน้ำตกวังสายทองเกิดจากคลองวังน้อยสายน้ำเกิดจากการทะลักของน้ำในถ้ำใต้ภูเขา  ไหลออกมาตามช่องเขาลงสู่แอ่งน้ำต่างๆ  ที่รองรับด้านล่างลักษณะเป็นชั้นๆ  จุดเด่นของน้ำตกคือมีพื้นดินเป็นหินปนทราย  บริเวณก้อนหินจะไม่เกิดตะไคร่น้ำจับ  สามารถเดินข้ามไปมาได้สะดวก  ไม่เกิดอุบัติเหตุ
ความงามของน้ำตกวังสายทองจึงอยู่ที่แอ่งน้ำแต่ละชั้นลดหลั่นกันลงมาจากชั้นบนสุดถึงต่ำสุดคล้ายดอกบัวคือส่วนบนจะแคบ  ส่วนข้างล่างจะกว้างออก  แต่ละชั้นเดินข้ามไปมาได้ง่าย  มีต้นมาขึ้นแซมสลับใช้จับเกาะได้  รอบๆน้ำตกมีตกไม้ใหญ่น้อย  ช่วยให้บรรยากาศร่มรื่น  เหมาะที่จะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างดี
ผู้ที่ไปเที่ยวน้ำตกวังสายทอง  ปะเหมาะโชคดีอาจได้พบกับคนพื้นเมืองคือ  “เงาะป่า”   หรือพวกนิกริโต  ซึ่งย้ายถิ่นไปมา  อาจจะออกมาพบปะผู้คนในท้องที่  ได้พบเห็นชาวเงาะป่า  ซึ่งวีถีชีวิตแตกต่างจากคนทั่วไป  ยังดำรงชีวิตแบบย้อนยุค  เป็นคนป่าคนดง  ยังมีให้พบเห็นได้แถบป่าเขาตอนเหนือของอำเภอละงู

บ่อน้ำร้อนบ้านโตน










บ่อน้ำร้อนบ้านโตน สถานที่อาบน้ำแร่ธรรมชาติ
หมู่ที่ 5 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง

บ่อน้ำร้อนบ้านโตน ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4  ตำบลทุ่งนุ้ย  ห่างจากทางแยกถนนยนตรการกำธรไปประมาณ  7  กิโลเมตร  เส้นทางคมนาคมสะดวกลาดยางจากถนนสายหลักไปสถานที่ตั้งของบ่อน้ำร้อน  บ่อน้ำร้อนบ้านโตนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล  กำลังพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  และเป็นบ่ออาบน้ำแร่ธรรมชาติ บริเวณบ่อน้ำร้อนตั้งอยู่ริมเชิงเขา  ซึ่งอยู่ในเทือกเดียวกับเขากาหมิง  แวดล้อมด้วยสวนผลไม้ และสวนยางพาราที่ราษฏรเข้าไปบุกเบิกเป็นที่ทำมาหากิน  จัดสรรพื้นที่ไว้ประมาณ 5 ไร่  สำหรับเป็นอาคารสำนักงาน  อาคารโรงอาหารและร้านค้าบริการนักท่องเที่ยว  ห้องสุขาและบ่ออาบน้ำแร่  เฉพาะพื้นที่ของบ่อทำเป็นรูปวงรี  กว้างประมาณ  10  เมตร  ยาวประมาณ 20 เมตร  ความลึกประมาณ 1.50  เมตร  ทำเป็นที่อาบน้ำ  2  ระดับ และที่ระบายน้ำที่ใช้แล้ว

ถ้ำภูผาเพชร









ถ้ำภูผาเพชร...... เพชรเม็ดงามที่เจียรนัยแล้ว
หมู่ที่ 9 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง

ถ้ำภูผาเพชร  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9  บ้านควนดินดำ  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27  กิโลเมตร  ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน  ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช  ซึ่งนิยมเรียกว่า  เขาบรรทัด  ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก  ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก  ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร  ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว  30  นาที

ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด  ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร”  เนื่องจากถ้ำมีความยาว  ลักษณะคดเคี้ยว  แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย  เมื่อกระทบกับแสงไฟ  ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร  จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน  ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า  ถ้ำภูผาเพชร
ตามประวัติมีว่า  เมื่อปี พ.ศ. 2517  ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง  รักทองจันทร์  ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535  มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว  อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว  มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ  บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม  กระทั่งปี พ.ศ.2540  นายศักดิ์ชัย  บุญคง  สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิดโฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้
ปี พ.ศ. 2541  นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10  จังหวัดสงขลา  ได้สำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร  โดยความร่วมมือของสภาตำบลปาล์มพัฒนา  พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี  ประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ  พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบร่องรอยส่วนก้นภาชนะดินเผา  ถูกหินปูนและเปลือกหอยยึดเกาะอยู่  นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า  บริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000  ปีมาแล้ว
ถ้ำภูผาเพชรมีเนื้อที่ประมาณ  50  ไร่  หรือ 20,000  ตารางวา  แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ  20  ห้อง  ชื่อเรียกต่างกันออกไป  เช่น  ห้องปะการัง  มีหินงอกหินย้อยคล้ายปะการังในทะเล  ห้องเห็ด  เต็มไปด้วยรูปดอกเห็ดขนาดต่าง ๆ  ห้องม่านเพชร  ลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน  ห้องพญานาคเห็นหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค  ส่วนห้องสวนมรกตจะมีสีเขียว  ส่องแสงระยิบระยับคล้ายสีของมรกต  ล้วนเป็นการรังสรรค์ของธรรมชาติโดยแท้
ถ้ำภูผาเพชรจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล  การไปมาก็สะดวก  มีถนนลาดยางถึงบริเวณปากถ้ำ  สภาตำบลปาล์มพัฒนาดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดสตูลขณะนี้

ถ้ำเจ็ดคต









ถ้ำเจ็ดคต......... ถ้ำมหัศจรรย์มีลำคลองลอดผ่าน
หมู่ที่ 6 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง

ถ้ำเจ็ดคตหรือ “ถ้ำสัตคูหา” ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10  ตำบลน้ำผุด  อำเภอละงู  ด้านทิศเหนือของน้ำตก วังสายทองห่างไปราว  2  กิโลเมตร  ระยะห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง  38  กิโลเมตร  เส้นทางไปมาสะดวก  ลาดยางถึงบริเวณถ้ำ  จึงเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดปี  ถ้ำเจ็ดคตมีความกว้าง 70 – 80 เมตร ยาวประมาณ  600  เมตร  แบ่งออกเป็น  7  ช่วงหรือคูหา  บางช่วงมีความสูงของเพดานถ้ำ 100 – 200 เมตร มีลำคลองไหลผ่านในถ้ำ  คือ คลองมะนัง  ต้นน้ำเกิดจากถ้ำโตน   อยู่ทางเหนือของถ้ำป่าพน  อำเภอมะนัง  คลองมะนังไหลออกปากถ้ำไปบรรจบกับคลองละงู  ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากภูเขาในจังหวัดตรัง

ภายในถ้ำซึ่งแบ่งเป็น  7  ช่วง  มีบรรยากาศแตกต่างกัน  ลำคลองไหลไปตามความคดเคี้ยวของตัวถ้ำ  สายน้ำจึงมีความตื้นลึกไม่เท่ากัน  ในช่วงหน้าแล้ง  น้ำลึกแค่ท่วมข้อเท้า  เดินลุยไปได้อย่างสบาย  บางตอนอาจลึกเกิน  5 เมตร  ช่วงหน้าฝน  น้ำหลาก  จะเดินทางเข้าไปได้ค่อนข้างยาก  นักท่องเที่ยวต้องเดินลัดเลาะไปตามริมผนังถ้ำ  เดินลุยน้ำ  บางตอนเป็นหาดทรายผสมกรวดบ้าง  บางคูหามีพื้นที่เป็นโคลนเลน               ต้องระมัดระวังในการเดินเป็นพิเศษควรมีไฟฉายติดตัวไปด้วย
บรรยากาศในถ้ำเงียบสงัด  แทรกด้วยเสียงน้ำไหลสลับกับเสียงลุยน้ำและเสียงสนทนาจากผู้มาเยือนเป็นระยะ ๆ  สิ่งที่เรียกเสียงอุทานด้วยความพึงพอใจจากนักท่องเที่ยวทั่วหน้าก็คือ  ดวงตาวาววับล้อแสงไฟที่ส่องไปกระทบของกลุ่มค้างคาวที่เกาะตัวอยู่บนเพดานถ้ำ  ดูราวกับกลุ่มดาวเคราะห์บนฟากฟ้าอันไกลโพ้น  มีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป ก่อเกิดจินตนาการที่กว้างไกลแก่ผู้พบเห็น  เมื่อเดินทางถึงคดสุดท้ายหรือคดที่เจ็ด  มีลำแสงส่องจากปากถ้ำ  เหมือนแสงแห่งชัยชนะมอบให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางถึงคูหาสุดท้ายใช้เวลาในการลัดเลาะไปตามผนังถ้ำลุยน้ำ  ชมธรรมชาติประมาณ 30  นาที
ถ้ำเจ็ดคตมีลักษณะพิเศษ  แตกต่างจากถ้ำอื่น ๆ  มีลำคลองลอดถ้ำ  คดเคี้ยวไปตามลักษณะธรรมชาติของตัวถ้ำมีถึง 7 คูหา  เป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้  มีผู้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ถ้ำสัตคูหา”  พร้อมตั้งชื่อของแต่ละคูหา ดังนี้
คูหาที่ 1  เรียกว่า “สาวยิ้ม”  ผนังถ้ำมีสีเขียวมรกตมีหินงอกหินย้อยอยู่หน้าถ้ำ
คูหาที่ 2 เรียกว่า  “นางคอย”  มีหินงอก  หินย้อย  สวยงาม และฝูงค้างคาวจำนวนมาก
คูหาที่ 3 เรียกว่า  “เพชรร่วง”  ส่วนบนของผนังถ้ำมีช่อง  ให้แสงอาทิตย์ส่องลอดลงมาได้  เมื่อแสงอาทิตย์กระทบกับผนังถ้ำจึงเกิดประกายแวววาวเหมือนเพชร
คูหาที่ 4  เรียกว่า “เจดีย์สามยอด”  พื้นทางเดินเป็นหิน  ลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ
คูหาที่ 5  เรียกว่า “ น้ำทิพย์”  ตามผนังถ้ำเป็นหินย้อยสีขาว และน้ำตาล  เป็นหลืบซ้อนกันมองดูคล้ายผ้าม่าน
คูหาที่ 6  เรียกว่า “ ฉัตรทอง”  มีหินงอก หินย้อยซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นเสมือนฉัตร
คูหาที่ 7  เรียกว่า “ ส่องนภา”  ภายในมีหินงอก  หินย้อย  รูปทรงคล้ายดอกบัวคว่ำ


บ้านพิพิธภัณฑ์รากไม้









บ้านพิพิธภัณฑ์รากไม้.......ผู้ประดิษฐ์เศษไม้ใต้ดินให้กลายเป็นของมีค่า
ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง


บ้านพิพิธภัณฑ์รากไม้  ตั้งอยู่ที่บ้านควนดินดำ  บ้านเลขที่  132  หมู่ที่ 9  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  เจ้าของได้แก่  นายประเสริฐ  คงทวี  อายุ  67  ปี มีภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวพัทลุง  อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอมะนัง  ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538  มีลูก  5  คน  เป็นชาย 1  คน  หญิง 4  คน
เดิม นายประเสริฐ  คงทวี  ขุดรากไม้ที่ฝังอยู่ในดินมาประดิษฐ์เป็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์ เป็นงานอดิเรก  วิธีการขุดรากไม้พยายามรักษาสภาพเดิมของตอ  และรากไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วนำมาประดิษฐ์  ตกแต่งตามลักษณะของตอและราก  ส่วนใหญ่เป็นตอไม้หลุมพอ  จัดเป็นไม้เนื้อดีของภาคใต้  ก่อนนั้น  มีความคิดที่จะนำไปจำหน่ายหารายได้สู่ครอบครัว  พอนานเข้าเกิดรักและหวงแหน เพราะต่อไปในวันข้างหน้า  ต่อไม้เหล่านี้จะกลายเป็นของหายาก  จึงเริ่มเก็บสะสมไว้เพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้  ขณะนี้มีจำนวนมากกว่า  30  ชิ้น  ตั้งเป็นบ้าน  พิพิธภัณฑ์รากไม้ เปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมได้   โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

น้ำตกโตนปลิว









น้ำตกโตนปลิว....... น้ำตกที่ส่งสัญญาณให้ชาวบ้านทราบ
ต. วังประจัน  อ. ควนโดน

น้ำตกโตนปลิวตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1  ตำบลวังประจัน  อำเภอควนโดน  ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติหัวกาหมิง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง  จึงอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาหัวกาหมิง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช

การเดินทางไปเที่ยวชมน้ำตก  เริ่มต้นจากสามแยกควนสตอ  ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข  4148  สายควนสตอวังประจัน  ถึงทางแยกเข้าน้ำตก 2 กิโลเมตร  เลี้ยวซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร  ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนปลิว
น้ำตกโตนปลิวประกอบด้วยชั้นน้ำตก  5  ชั้น  ชั้นหลักชื่อ “โตนลำพร้าว”  มีหน้าผาน้ำตกสูงราว  40  เมตร  กลายเป็นแอ่งน้ำขัง ชื่อ “วังบ่อ”  กับ “วังเตย” เป็นต้น  เหมาะสำหรับการอาบน้ำเล่น ส่วนชั้นอื่น ๆ ผาน้ำตกไม่ค่อยสูงนัก  จากนั้นสายน้ำตกจะกลายเป็นคลองเล็ก ๆ ชื่อ  คลองมาเหลา  ไหลมารวมกับคลองหัก  ไหลลงสู่คลองกาหมิง  และกลายเป็นคลองดุสนในที่สุด
สภาพธรรมชาติแถบต้นน้ำเขากาหมิงยังอุดมสมบูรณ์  จึงมีน้ำตกไหลตลอดปี  ประโยชน์ที่ราษฎรตำบลวังประจันและควนสตอได้รับคือ ประปาภูเขาที่ส่งน้ำมาจากแหล่งน้ำตก  ชาวบ้านวังประจันมีความเชื่อกันมานมนานว่า  ในช่วงหน้าแล้งตกกลางคืนถ้าได้ยินเสียงน้ำตกดังผิดปกติ  เป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าความแห้งแล้งจะสิ้นสุดแล้ว